ปลากัดไทย ลายไตรรงค์ สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของคนไทย

ปลากัดไทย ลายไตรรงค์ สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของคนไทย
ปลากัดไทย ลายไตรรงค์ สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของคนไทย

กระแสความนิยมปลากัดไทย กำลังกลับมาเป็นที่ฮือฮาอีกครั้ง หลังจาก อแมนด้า ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 สวมใส่ชุดประจำชาติ “ไตรรงค์อนงค์นาถสุพรรณมัจฉา” หรือ “ชุดปลากัดไทย” ให้ทั่วโลกได้ยลโฉม ในการประกวดรอบชุดประจำชาติ เวทีมิสยูนิเวิร์ส 2020 ซึ่ง อัครัช ภูษณพงษ์ ดีไซเนอร์นักออกแบบชุดประจำชาติครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากนางสุพรรณมัจฉาในวรรณคดีและปลากัดลายไตรรงค์ของไทยเรานั่นเอง ดังนั้นวันนี้เราจึงนำเรื่องรางน่ารู้ของปลากัดไทย ลายไตรรงค์ สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของคนไทยมานำเสนอดังนี้ค่ะ

“ปลากัดไทย” โดดเด่นเรื่องพฤติกรรมการต่อสู้ ที่คล้ายคลึงกับลักษณะนิสัยของคนไทยที่มีความรักและหวงแหนประเทศชาติ ในยามรบก็พร้อมที่จะปกป้องแผ่นดินไทยจากข้าศึกศัตรูด้วยสติปัญญาและความกล้าหาญ “ปลากัดไทย” เป็นปลาพื้นเมืองที่มีลักษณะสวยงาม พบข้อมูลจากอนุกรมวิธาน บันทึกไว้เมื่อปี คศ.1909 ว่า ปลากัดไทย มีแหล่งกำเนิดอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและตามแหล่งน้ำทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ปลากัดสายพันธุ์ดั้งเดิมจากธรรมชาติเรียกว่า “ปลากัดป่า” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens หรือชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish ต่อมาได้รับการพัฒนาสายพันธ์ุจนกระทั่งได้ปลากัด “ลายธงไตรรงค์” (Thai Flag Betta) ซึ่งมีเอกลักษณ์ของลวดลาย คล้ายธงชาติไทย หรือ ธงไตรรงค์ มี 3 สีได้แก่ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน

ก่อนหน้าที่เจ้าปลากัดไทยลาย ไตรรงค์ จะเป็นที่สนใจ ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ได้มีเหตุการณ์ที่ผู้ใช้เฟซบุ๊ก เจ้าของปลากัดลายธงชาติไทย ได้นำปลากัดสายพันธุ์ฮาฟมูน หรือปลากัดครีบสั้นหางพระจันทร์ครึ่งดวง ชื่อ ไตรรงค์ มาทำการประมูล โดยมีผู้ประมูลไปในราคาที่สูงถึง 53,500 บาท และ ต่อมาได้มีการแชร์ภาพถ่ายปลากัดไตรรงค์ 2 ทางเฟซบุ๊กของเอกนครปฐม ประธานกลุ่มปลาสวยงาม นครปฐมโมเดล ซึ่งได้รับกระแสชื่นชมในโลกออนไลน์อย่างมาก ด้วยแนวทางความร่วมมือกับกรมประมงในการพัฒนาและขยายพันธุ์ปลากัดลายธงชาติไทยให้แพร่หลาย เป็นอัตลักษณ์อันล้ำค่าแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

โดยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ โดยกรมประมงได้นำเสนอ ด้วยเหตุผล 3 ด้านได้แก่

  1. ด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ โดยมีหลักฐานยืนยันจากกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี 2556 ว่าได้ประกาศขึ้นทะเบียนปลากัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เนื่องจากปลากัดมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่ครั้งโบราณกาล
  2. ด้านความเป็นเจ้าของ และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื่องจาก “ปลากัดไทย” ถูกเป็นให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ และมีชื่อว่า Betta splendens ชื่อสามัญ “Siamese Fighting Fish” หรือ “Siamese Betta” ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย
  3. ด้านประโยชน์ใช้สอย ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญในด้านการส่งเสริมการเพาะเลี้ยง เพื่อนําไปสู่มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เนื่องจากระหว่างปี 2556-2560 พบว่ามีตัวเลขการส่งออกปลากัดไทย ราว 20.85 ล้านตัวต่อปี ไปยัง 95 ประเทศทั่วโลก สร้างมูลค่ากว่า 115 ล้านบาทต่อปี

ปัจจุบันความภาคภูมิใจในปลากัดไทย ทำให้มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน​เลี้ยงปลากัดทั้งสิ้นกว่า 1,500 คน ไม่นับรวมจำนวนผู้เลี้ยงทั่วไปอีกกว่า 100,000 คน ทั้งนี้เพราะปลากัดไทย สามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงและสะท้อนตัวตนความเป็นคนไทยได้อย่างน่าภาคภูมิใจ