3 เทคนิคสำหรับครอบครัว สร้างภูมิคุ้มกันใจให้บุตรหลาน

3 เทคนิคสำหรับครอบครัว สร้างภูมิคุ้มกันใจให้บุตรหลาน
3 เทคนิคสำหรับครอบครัว สร้างภูมิคุ้มกันใจให้บุตรหลาน

เพราะลูกคือดวงใจของพ่อแม่ การเอาใจใส่ดูแลเรื่องอาหารการกินและสุขภาพเป็นวิธีที่พ่อแม่ทุกคนเอาใจใส่และเฝ้าดูพัฒนาการความเจริญเติบโตทางร่ายกายของบุตรหลาน และทำให้เรารู้ว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถสร้างเสริมได้ด้วยการรับประทานอาหาร เป็นต้น แล้วภูมิคุ้มกันด้านจิตใจล่ะ พ่อแม่เคยตระหนักหรือไม่ว่า เราจะสร้างให้ลูกได้ด้วยวิธีใด ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เราไม่สามารถดูแลบุตรหลานได้ตลอดเวลา เมื่อเขาอยู่นอกบ้านหรือคลาดจากสายตาเราไป ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจคือเกราะป้องกันที่ดีที่สุดให้แก่ลูก

3 เทคนิคการสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจให้แก่บุตรหลานในครอบครัว ได้แก่

1.การแสดงความรักและแก้ปัญหาให้ลูกด้วยอารมณ์ที่แจ่มใส เพราะสิ่งแรกที่ลูกเห็นก็คือสีหน้าและแววตาของคนเป็นพ่อแม่ รอยยิ้มของพ่อแม่จะส่งผลโดยตรงต่อจิตใจของลูก หากพ่อแม่ฝึกลูกให้อารมณ์ดี เท่ากับมอบภูมิคุ้มกันต่อความคิดด้านลบให้กับเขา ให้เขามีมุมมองด้านบวกและเห็นถึงคุณค่าของตนเอง สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนวัคซีนป้องกันเชื้อโรคร้ายทางอารมณ์ที่ลูก ๆ ต้องเจอเมื่อเติบโตขึ้นไปใช้ชีวิตในสังคม

2.การให้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันภายในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ ปลูกฝังพฤติกรรมที่เหมาะสมให้ลูกรู้จักปรับตัวตั้งแต่ในวัยเด็ก โดยลูก ๆ จะมีพัฒนาการจากพฤติกรรมของพ่อแม่ในการเล่นหยอกล้อกับลูก จดจำการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือออกกำลังกายต่าง ๆ เป็นแบบอย่าง นำไปพัฒนากระบวนการสร้างความกระฉับกระเฉงและแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อ ทั้งยังช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานดีขึ้น ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผลพลอยได้จากการพฤติกรรมการเล่นดังกล่าว ยังเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่า เอนดอร์ฟิน ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพจิตที่ดีของลูกอีกด้วย

3.การให้ความรู้และทักษะที่ครบถ้วน เพื่อนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เพราะไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด มนุษย์ล้วนมีพัฒนาการจากการเรียนรู้ นับตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา การเจริญเติบโตอย่างสมดุลทั้งร่ายกายและสติปัญญาเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรตระหนักและเริ่มต้นที่บ้าน ด้วยการสอดแทรกความรู้ จริยธรรม ขนบประเพณีอันดีงาม ตลอดจนหลักธรรมคำสอนในศาสนา เพื่อให้ลูกนำไปเป็นหลักคิดและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับช่วงวัยและสามารถแก้ไขสถานการณ์ ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที ไม่เสียเวลาและเสียใจไปกับเรื่องรกสมองที่ชักจูงให้มีความคิดติดลบและไม่เกิดประโยชน์ต่อชีวิตนั่นเอง

จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 เทคนิคทำได้ไม่ยาก หากใช้ความรักความเข้าใจในครอบครัวเป็นที่ตั้ง ในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหา ลูกจะมีสติและใช้ปัญญาในการแก้ไข สิ่งนี้คือประโยชน์​ของภูมิคุ้มกันทางใจที่คุณสร้างให้ลูกตั้งแต่วัยเยาว์​ อย่าเพียงกอดลูกทางกาย แต่กอดหัวใจเขาไว้ด้วยความรักความเอาใจใส่และความรู้ดี ๆ ที่พร้อมจะถ่ายทอดด้วยหัวใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างแท้จริง